วันศุกร์, พฤศจิกายน 17, 2560

ไม่เพียง “เสียงของผู้คนมักเป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกละเลยเพิกเฉยอยู่เสมอ” ในยุค คสช. มันเป็นไปได้ว่า "มีความคิดที่จะริบ ยื้อแย่งเครื่องมือสื่อสารไปจากประชาชน"

อาทิตย์นี้มีคนไทยได้รับรางวัลดีเด่นระดับนานาชาติสองคน เสียใจถ้าบางคนผิดหวังที่หนึ่งในนั้นไม่ใช่นักร้องดังที่ออกวิ่งทางไกลใต้จรดเหนือเพื่อรับเงินบริจาคช่วยซื้อเครื่องมือแพทย์ให้กับโรงพยาบาลรัฐ ๑๑ แห่ง

หนึ่งในนั้นเป็นนักหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในสังคมไทย การต่อสู้ของเขาที่หนักหนาเป็นรายวัน อยู่ที่การอดทนรับแรงกระแทกก่นด่าว่าร้ายเสียๆ หายๆ ไม่เว้นแต่ละวัน
ใครที่ติดตามทวิตเตอร์ของ ประวิตร โรจนพฤกษ์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสดอิงลิช จะเห็นว่าเขาพยายามตอบคนที่คอยโพสต์จ้วงจาบหยาบคายด้วยเหตุผลในทางประชาธิปไตยเสมอ แต่ก็มักจะไม่สามารถทำให้พวกเขาฉุกคิดหรือเลิกแถกแถได้

คนเหล่านั้นล้วนมีความคิดความอ่านในแนว สลิ่มแบบที่ ชัย ราชวัตร นักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองประจำหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โพสต์ความเห็นส่วนตัวเอาไว้

“ใครรังเกียจกฎหมายมาตรา ๑๑๒ รังเกียจนายกฯ มาจากทหาร รังเกียจรัฐธรรมนูญที่มี สว.มาจากการแต่งตั้ง รังเกียจคนนอกมีสิทธิมาเป็นนายกฯ...เชิญเลย...ขอย้ายสัมโนครัวไปอยู่ประเทศอื่น”

แต่ประวิตรก็กล่าวปาฐกถาในงานรับโล่ห์ประกาศเกียรติคุณ เสรีภาพสื่อนานาชาติ ประจำปี ๒๕๖๐ ของคณะกรรมการปกป้องสื่อมวลชน หรือ ‘CPJ’ ในนครนิวยอร์ค เมื่อคืนวันพุธที่ ๑๕ พฤศจิกายน (เวลาท้องถิ่น) ว่า

หลายคนถามผมว่าจะขอลี้ภัยที่สหรัฐเลยไหม ผมตอบว่าไม่ เพราะผมต้องกลับไปปฎิบัติหน้าที่สื่อ และพยายามปกป้องเสรีภาพสื่อและเสรีภาพการแสดงออกที่ประเทศไทยต่อไป”

ในงานนี้มีนักข่าวนานาชาติอื่นที่ได้รับรางวัลแบบเดียวกันอีกสามคน คืออาห์เมด อับบา จากแคเมรูน แพ้ทริเชีย มาญอร์กา จากเม็กซิโก และอัฟราห์ แนสเซอร์ ชาวเยเมนซึ่งลี้ภัยอยู่ในสวีเด็น แต่ละคนต้องเผชิญกับการคุกคาม ข่มขู่ บีบบังคับ จากทางการรัฐบาลเผด็จการหรืออำนาจนิยมเช่นเดียวกับประวิตร

“ล่าสุด ประวิตรถูกหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่กองปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมเทคโนโลยี (ปอท.) ในข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา ๑๑๖ และนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เนื่องจากได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว วิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด”


อีกรายซึ่งไปรับรางวัลชมเชยจากเทศกาลหนังสั้นนานาชาติ Kurzfilmtage Winterthur’ ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็คือ สรยศ ประภาพันธ์ ผู้กำกับและบันทึกเสียงภาพยนตร์ประเภทอินดี้ของไทยและภูมิภาคอาเซียน จากภาพยนตร์เรื่อง อวสานซาวด์แมน
สรยศกล่าวในปาฐกถา เอ่ยอิงถึง ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมทางสังคมชาวลาหู่ ผู้มีชื่อเสียงในการทำหนังสั้นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของชนกลุ่มน้อยในไทย จนกระทั่งถูกทหารทำวิสามัญฆาตกรรมเมื่อต้นปีพร้อมกับยัดข้อหาค้ายาเสพติด

ชาวบ้านพยานบุคคลให้การว่าชัยภูมิถูกยิงข้างหลังแล้วทหารจึงเอายาบ้าไปยัดข้างศพ มีการเรียกร้องให้เปิดเผยภาพวิดีโอจากกล้องวงจรปิดเพื่อพิสูจน์ แต่ทางการไม่ยอม 

สรยศจึงทำหนังสารคดีเรื่องนี้โดย “ใส่เสียงลั่นกระสุนปืนประกอบลงไปในหนัง เพื่อย้ำเตือนถึงสิ่งที่พวกเขากระทำกับพวกเรา”

นั่นเป็นการแสดงจุดยืนแห่งหลักสำคัญของการสื่อสารมวลชนที่ขาดหายไป ภายใต้การปกครองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จที่ยึดมาด้วยการรัฐประหาร ที่ว่า “เสียงของผู้คนมักเป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกละเลยเพิกเฉยอยู่เสมอ”


ไม่เพียงแต่ละเลยเพิกเฉย ในวิธีการกดขี่ของ คสช. ก็คือตามจี้ประชิดประกบผู้ที่มีความเห็นต่างหรือคัดค้านการปกครองของทหาร และแม้กระทั่งบ่นว่า วิพากษ์วิจารณ์ ร้องโวยวายในความทุกข์ยากที่ได้รับ

แม้ในยุคนี้ที่การสื่อสารทางอีเล็คโทรนิคก้าวหน้า ชนิดผู้อยู่ห่างไกลปืนเที่ยงสามารถรู้เท่าทันคนในเมือง คสช.ก็มิวายมีความคิดที่จะริบ ยื้อแย่งเครื่องมือสื่อสารเหล่านั้นไปจากประชาชน

ดังกรณีมีภาพโพสต์เกี่ยวกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้า คสช. บอกกับนักข่าวว่า “ต่อไปจะไม่ให้ขายโทรศัพท์รุ่นใหม่ ที่มันเล่นเฟชเล่นไลน์ได้ เพราะพวกที่ซื้อเอาไปเป็นเครื่องมือโจมตีรัฐบาล”
ข้อความนั้นจะจริงหรือไม่จริงไม่สำคัญเท่า ในความเป็นมาของบุคคลิกท่าที และนิสัยสันดอนของพวกตัวเอ้ๆ คสช. “มันเป็นไปได้” ว่าคำพูดเหล่านั้นอาจหลุดออกมาจากปากบิ๊กใดบิ๊กหนึ่ง

แต่ที่แน่ๆ เป็นคำให้การผ่านสื่อสังคมของนักกิจกรรมบนโซเชียลคนหนึ่ง ผู้ใช้นามว่า Wanchalearm Satsaksit เขียนเล่าไว้เมื่อสองสามวันก่อน

“มี จนท.ตำรวจนอกเครื่องสองคนไปถามหาผมที่บ้าน ถามว่าผมอยู่ไหน เมื่อได้ความว่าอยู่นอกกะลาก็คุยเรื่อยเปื่อยและขอถ่ายเซลฟี่กับแม่ผม คงเอาไปใส่ในรายงาน”

เขาอ้างนี่เป็นส่วนหนึ่งของการตามล่า กลุ่มบิดเบือนผ่านโซเชียล“โดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาฯ สมช. รับคำสั่งจากประวิตร (วงษ์สุวรรณ)”

“สำหรับผมนั้นไม่กังวลที่ถูกตาม และไม่สนใจที่เขาจะเรียกว่าเป็นคนบิดเบือน เพราะส่วนใหญ่ด่า/วิจารณ์บนข้อมูลเชิงประจักษ์...

แต่พอเวลาผ่านไปข้อเขียนมันก็พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าสิ่งที่วิเคราะห์ไปนั้นเกิดขึ้นจริง คสช.ล้มเหลวจริง บริหารแย่จริง เป็นต้น

สมช. ควรติดตามและทำรายงานเสนอ คสช.ว่า จะช่วยประชาชนที่ลำบากจากน้ำท่วมอย่างไร จะมีโครงการใดที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้ จะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีอาชีพที่ยั่งยืนได้อย่างไร จะทำอย่างไรถึงจะยกระดับการสาธารณสุขของไทยได้ จะทำอย่างไรจึงจะทำให้กองทัพมีความโปร่งใส...

การวิพากษ์วิจารณ์ทางโซเชียล คือเสียงสะท้อนการทำงานของรัฐบาลทหารที่ปล้นอำนาจมา และเสียงสะท้อนก็ออกมาในทางที่ว่า คสช.นั้นแสนห่วยแตก หลอกลวง...

อย่ากลัวจนขี้ขึ้นสมองไปหน่อยเลย ประชาชนจะไม่มีวันแพ้ บอกไว้เลยตรงนี้”


โนคอมเม้นต์ ถ้าไม่ตามนั้นก็ตามน้ำนะ