วันศุกร์, พฤศจิกายน 17, 2560

BBC Thai : บันได 3 ขั้น สู่เลือกตั้งท้องถิ่น จะเร็วจริงตามสัญญา?



AFP/GETTY IMAGES
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ขวา) แสดงความยินดีกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร (ตรงกลาง) ที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าราชการ กทม. สมัยที่ 2 ด้วยคะแนนโหวต 1.2 ล้านคะแนน


บันได 3 ขั้น สู่เลือกตั้งท้องถิ่น จะเร็วจริงตามสัญญา?


16 พฤศจิกายน 2017
บีบีซีไทย


รัฐบาลทหารส่งสัญญาณพร้อมให้เลือกตั้งท้องถิ่นภายใต้แผน "บันได 3 ขั้น" ทว่า อบต. กว่า 5.3 พันแห่งมีแนวโน้มยังไม่ได้จัดการเลือกตั้งพร้อมท้องถิ่นอื่นๆ กว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดได้ ต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง


3 ปี 6 เดือน หลังยึดอำนาจ 22 พ.ค. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียม "คายอำนาจ" ให้ประชาชนได้ใช้อำนาจอธิปไตยทางตรงในสนามเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ก่อนจัดการเลือกตั้งระดับชาติตามโรดแมปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำหนดไว้ในเดือน พ.ย. 2561 จนขณะนี้ยังไม่มีการเคาะปฏิทินที่ชัดเจน เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ คสช.

"บันได 3 ขั้น" สู่การเลือกตั้งท้องถิ่นถูกเปิดเผยโดยมือกฎหมายของรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม

เริ่มจาก "บันไดขั้นแรก" ตรวจสอบข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง โดยช่วงสายวันนี้ (16 พ.ย.) นายวิษณุเรียกประชุมผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการกฤษฎีกา พบว่า หากจะเลือกตั้งท้องถิ่นจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายอย่างน้อย 6 ฉบับ ดังนี้


พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545
พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537
พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540
พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496
พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ. 2528
พ.ร.บ.บริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542

ทั้งหมดนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายกร่างไว้เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

"การแก้ไขกฎหมายทั้ง 6 ฉบับ จะไม่เสร็จภายในปีนี้ เพราะเหลือเวลาเพียง 1 เดือน" นายวิษณุกล่าว

อบต. รอปรับโครงสร้าง ก่อนให้เลือกตั้ง

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า ปัจจุบันมีตำแหน่งผู้บริหารและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่างถึง 8,410 ตำแหน่ง เนื่องจากหมดวาระและไม่เคยมีการเลือกตั้งนับจาก คสช. เข้าบริหารประเทศในปี 2557 แต่ได้ใช้วิธีการสรรหาและแต่งตั้งแทน ขณะเดียวกันยังมีข้อเสนอจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เรื่องการควบรวมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ขนาดเล็กแล้วยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาล ค้างอยู่ นั่นทำให้ข้อสังเกตจากนายหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 3 ประการ ถูกโยนขึ้นมาถกเถียงในวงประชุมนี้





ปลดล็อคท้องถิ่น แต่ห้ามพรรคเปิดปากมาก
ข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมายเหล่านี้จะถูกส่งต่อให้ คสช. เพื่อตัดสินใจว่าจะจัดเลือกตั้งท้องถิ่นระดับใดบ้าง เป็น "บันไดขั้นที่ 2" และนำไปสู่การปลดล็อคทางการเมือง เป็น "บันไดขั้นที่ 3" เพราะขณะนี้ไม่ว่านักการเมืองระดับชาติหรือท้องถิ่นต่างถูก "ล็อค" ด้วย ประกาศ คสช.ที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เหมือนกัน โดยห้ามชุมการเมืองเกิน 5 คน และห้ามพรรคการเมืองจัดประชุมหรือทำกิจกรรม


GETTY IMAGES
บรรยากาศหาเสียงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 ที่จบลงด้วยชัยชนะของพรรคเพื่อไทย ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกฯ หญิงคนแรกของไทย


ทว่าในการพิจารณาเรื่องปลดล็อค นายวิษณุชี้ว่าอาจดำเนินการเป็น 2 ขยักคือ ปลดล็อคท้องถิ่นก่อน ให้พรรค "หาเสียงโดยให้พูดแต่เรื่องของท้องถิ่นนั้น ๆ" ส่วนการปลดล็อคการเมืองระดับชาติอาจพิจารณาในจังหวะต่อไป ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ขอเติมอีกเงื่อนไขโดยให้ "หาเสียงได้ แต่ห้ามสร้างความวุ่นวาย" นั่นอาจทำให้กระบวนการเลือกตั้งครั้งนี้บิดเบี้ยวไปจากรูปแบบปกติที่เป็นสากล เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ "ประชามติไม่มีเสียง" เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559?

กรธ. ชี้ชัดอำนาจ กกต.จัดเลือกตั้ง

นอกจาก "ผู้เล่น" ที่เฝ้ารอลงสนาม ยังมีปมปัญหาบางประการเกี่ยวกับ "ผู้คุมกฎ" เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 ไม่ได้ให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ให้คอย "ควบคุมดูแล" เท่านั้น ทำให้นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการ กกต. เตรียมส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความประเด็นนี้

นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการ กรธ. ชี้แจงข้อเท็จจริงว่ารัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าให้ กกต. มีหน้าที่จัดและดำเนินการให้มีการเลือกตั้ง ซึ่ง กกต. อาจมอบหมายให้ อปท. หรือหน่วยงานใดเป็นผู้จัดการเลือกตั้งก็ได้


AFP/GETTY IMAGES
ชาว กทม.เข้าคูหาเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม. เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2556


แม้ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าการเลือกตั้งสนามย่อยจะเกิดขึ้นเมื่อไร แต่นักวิชาการได้ออกมาขานรับและคาดการณ์ว่าบรรยากาศน่าจะคักคึกและมีสีสัน เพราะเป็นการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งมโหฬารกว่า 8 พันตำแหน่ง และเป็นสิ่งที่ประชาชนรอคอย ขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มแข่งขันรุนแรงจากความต้องการลงสนามเลือกตั้งของนักการเมือง

"คนรอการเลือกตั้งแน่นอน และอาจเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่านักการเมืองระดับชาติได้ผันตัวไปเล่นการเมืองท้องถิ่นมากขึ้นตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร สะท้อนความสำคัญของการเมืองท้องถิ่นในฐานะกลไกหลักในการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะมันช่วยสร้างฐานเสียงให้เขาได้ ก็ไม่แปลกที่พรรคต่างๆ จะปรับเกมมาลงการเมืองท้องถิ่น เพื่อไม่ให้ไปเบียดกันในการเมืองระดับชาติ" ดร.กฤชวรรธน์ โล่ห์วัชรินทร์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวกับบีบีซีไทย

นักวิชาการชี้ชาวบ้านไร้สุข ผู้นำท้องถิ่นแต่งตั้ง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า อปท. คือกลไกรัฐชนิดเดียวที่ผู้บริหารมาจากการเลือกตั้ง ประชาชนในชุมชนจึงยอมรับการใช้อำนาจโดยบุคคลที่พวกเขาเลือก มากกว่าการกดปุ่ม-สั่งการจากภายนอก





แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลากว่า 3 ปีของรัฐบาล คสช. คือการออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 โยก-ย้าย-ยืดอายุให้ผู้บริหารท้องถิ่นหลายราย ทำให้ประชาชนได้ผู้นำท้องถิ่นที่พวกเขาไม่มีส่วนร่วม อาทิ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าราชการ กทม. แทน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งไปตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค. 2559 หรือพล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี เป็นนายกเมืองพัทยา ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. 2560

คำสั่งระงับการปฏิบัติราชการและปฏิบัติหน้าที่ใน อปท. เป็นการชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน หรือสั่งย้ายไปช่วยราชการที่ศาลากลางจังหวัด เป็นผลพวงจากการประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบ ของศูนย์อํานวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.)

แม้ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ดร.กฤชวรรธน์ระบุว่าไม่พบปัญหาในการปฏิบัติราชการ แต่การให้ฝ่ายประจำสังกัดกระทรวงมหาดไทย มารักษาราชการแทนผู้บริหาร อปท. ในบางพื้นที่ อาจมีผลต่อความรู้สึกของประชาชนในฐานะผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง

"ประชาชนคงไม่แฮปปี้ (มีความสุข) เท่าไรที่เป็นอย่างนี้ เพราะฝ่ายประจำไม่ได้เป็นคนในท้องถิ่น ความผูกพันกับประชาชนอาจจะไม่มี ทำให้ความใกล้ชิดหายไป" อาจารย์ มข.กล่าว