วันอาทิตย์, กันยายน 17, 2560

ผ่านมาแล้ว 3 ปี มีนโยบายภาษีอะไรบ้างที่ทางคสช.ทำตามสัญญา...




ที่มา FB

TaxBugnoms

• ผ่านมาแล้ว 3 ปี จากวันนั้นถึงวันนี้ มีเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงนโยบายภาษีต่างๆมา พรี่หนอมจะพาย้อนเวลากลับไปมาดูว่า ตั้งแต่เดือนกันยายน 2557 เป็นต้นมานั้น มีนโยบายภาษีอะไรบ้างที่ทางคสช.ทำตามสัญญา เอ้ย ทำสำเร็จตามที่คาดหวังไว้บ้าง

• นโยบาย 3 กลุ่มที่ตั้งใจไว้ ตั้งแต่ ภาษีตัวใหม่, ปรับปรุงโครงสร้างภาษีเดิม และ มาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงระหว่างประเทศนั้น อ้างอิงจากบทความ แพ็คเกจภาษี “ข้อเสนอ” คสช. มาตรการแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ-รวยกระจุก จนกระจาย ที่ทาง ThaiPublica เคยรวบรวมไว้

ใครอยากอ่านข้อมูลเพิ่มเติม เชิญที่ลิงค์นี้เลยครับ
https://thaipublica.org/2014/09/ncpo-tax-package/

• ออกตัวไว้ก่อนว่า อัลบั้มชุดนี้ ไม่ได้วิเคราะห์วิจารณ์การทำงานแต่อย่างใด เพียงแต่รวบรวมให้ดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางด้านภาษีอย่างไรกับประเทศไทยเราบ้าง

#ขอเชิญติดตามดูกัน
#แชร์ได้ไม่น่าจะโดนเรียกปรับทัศนคติ
#TAXBugnoms

.....

• ผ่านมาแล้ว 3 ปี จากวันนั้นถึงวันนี้ มีเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงนโยบายภาษีต่างๆมา พรี่หนอมจะพาย้อนเวลากลับไปมาดูว่า ตั้งแต่เดือนกันยายน 2557 เป็นต้นมานั้น มีนโยบายภาษีอะไรบ้างที่ทางคสช.ทำตามสัญญา เอ้ย ทำสำเร็จตามที่คาดหวังไว้บ้าง

#รูปทหารที่ล้อมรอบนั้นไม่ได้เป็นนัยยะการเมืองแต่อย่างใด
#TAXBugnoms





กลุ่มแรก : ภาษีตัวใหม่ ได้แก่


• ระบบโอนเงินแก้จนคนขยัน (Negative income tax)
สำหรับระบบนี้ยังไม่เกิดขึ้นครับ แต่มีการลงทะเบียนคนจน ซึ่งโดยส่วนตัวพรี่หนอมมองว่าเป็นนโยบายที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ การช่วยเหลือจากภาครัฐ

โดย Negative Income TAX เป็นการช่วยเหลือคนจนของรัฐบาลในรูปแบบของการโอนเงินหรือจ่ายเช็คให้แก่บุคคลที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งตรงกันข้ามกับ Positive Income TAX นั่นคือระบบที่เรียกเก็บภาษีจากคนที่มีรายได้นั่นเองครับ

• ภาษีการรับมรดกและภาษีจากการรับให้
สำหรับตัวนี้มีการประกาศใช้เป็นกฎหมายเรียบร้อยครับ เมื่อวันที่ 29 กรกฏาคม 2558 ซึ่งบังคับใช้ในช่วงเวลาหลังจากนั้นอีก 180 วัน นั่นคือเริ่มต้นใช้จริงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ครับผม

สนใจอ่าน พรบ. ภาษีมรดกเพิ่มเติม เชิญที่นี่ครับ http://www.rd.go.th/publish/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/deathduty.pdf

อย่างไรก็ตามจากรายงานประจำปีงบประมาณ 2559 ของกรมสรรพากร พบว่ารัฐสามารถจัดเก็บภาษีมรดกได้ 0 บาทครับ

• ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
คาดการณ์ว่าจะมาจริง โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างการทบทวน ถึงอัตราภาษีและความเหมาะสมในการจัดเก็บของสินทรัพย์แต่ละประเภท อย่างไรก็ตาม คาดว่าออกในปี 2561 และบังคับใช้จริงในวันที่ 1 มกราคม 2562





กลุ่มสอง : ปรับปรุงโครงสร้างภาษีเดิม

• ปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10%
ล่าสุดนั้น ยังไม่ได้มีการปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้นครับ แต่เป็นการต่ออายุไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2560 นี้ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 65/2559

เรื่องนี้คงต้องติดตามดูกันครับว่าจะมีการปรับเพิ่มขึ้นไหม แต่โดยส่วนตัวพรี่หนอมคิดว่าไม่น่าจะมีนะครับ ฮ่าๆ

• เก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา
สำหรับเรื่องนี้ ได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 588 - 590) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 307 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นมา

• เก็บภาษีขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
ยังไม่พบข้อมูลว่าจะมีการเก็บภาษีสำหรับกรณีดังล่าว

• ค่าใช้จ่ายแบบเหมา ปรับลดลง 50%
พบว่ามีการปรับลดลงสำหรับการหักค่าใช้จ่ายของเงินได้ประเภทที่ 7-8 จากอัตรา 65-85% เหลือ 60% และมีการปรับเพิ่มขึ้นสำหรับค่าใช้จ่ายของเงินได้ประเภทที่ 1-3 เป็นสูงสุด 50% ไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560 ; พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 629) และ พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 634)

• ค่าใช้จ่ายลิขสิทธิ์หักได้ตามจริง
มีการให้หักได้เพิ่มขึ้น และสามารถหักได้ตามค่าใช้จ่ายจริง ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 634)

• เพิ่มค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลอีก 30,000 บาท
มีการปรับเพิ่มขึ้นจริงในส่วนค่าลดหย่อนส่วนตัวและคู่สมรสเพิ่มเป็น 60,000 บาท และมีการเพิ่มสำหรับบุตรเป็น 30,000 บาททุกกรณี ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560

• ไม่ต่ออายุมาตรการภาษี LTF
มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการถือครอง LTF จาก 5 ปีปฎิทินให้เป็น 7 ปีปฎิทิน โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่การซื้อ LTF ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นมา ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 เพื่อเป็นการต่ออายุ LTF ไปอีก 3 ปี ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 317

• กำหนดเพดานลดหย่อนภาษีไม่เกิน 1 ล้านบาท
ยังไม่พบข่าวคราวสำหรับนโยบายเรื่องนี้





กลุ่มสาม : มาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงระหว่างประเทศ

• กำหนดสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (Thin Capitalization)
ยังไม่พบข้อมูลในเรื่องนี้

• ป้องกันการตั้งราคาสินค้าต่ำกว่าความเป็นจริง (Transfer pricing) และ ป้องกันการโยกย้ายกำไรลงบัญชีประเทศที่เก็บภาษีในอัตราต่ำ
มีการร่าง พรบ. เรื่องนี้ ซึ่งเคยเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไปในช่วง 21 มิถุนายน - 7 กรกฎาคม 2560 ตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญในเวปไซด์กรมสรรพากร

• ป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีเป็นการทั่วไป
มีความพยายามในการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ตั้งแต่นโยบาย National E-Payment ภาษี e-Business ต่างๆ ซึ่งอยู่ในช่วงร่างกฎหมายและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน





จะเห็นว่าสิ่งที่ตั้งต้นไว้ตั้งแต่ปี 2557 นั้น คสช. ก็เริ่มต้นและทำเสร็จไปหลายเรื่องเช่นกัน เรียกได้ว่าเกือบๆจะทำตามสัญญาได้หมดครับผม #เย่

ประเด็นที่อยากจะชี้สำหรับเรื่องนี้ คือ การปรับตัวเรื่องภาษีของคนไทยเรา ต้องเปลี่ยนแปลงจากเดิมเช่นกันครับ

พรี่หนอมเชื่อว่าเราทุกคนมีหน้าที่คอยติดตามข่าวสารให้ดีครับ และวางแผนให้เหมาะเพื่อรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปครับ

เพราะภาษีไม่ใช่เรื่องง่าย พรี่หนอมเลยอยากให้คนทุกคนเข้าใจภาษีครับผม #ลุงตู่ไม่ได้กล่าว #แค่เอามาทำภาพประกอบเฉยๆ





ขอบคุณ aomMONEY ที่พร้อมจะไปด้วยกันในทุกสถานการณ์ครับ

ooo