วันอาทิตย์, กรกฎาคม 16, 2560

‘สัญญาประชาคม’ เต็มไปด้วย ‘ธรรม’ ทั้งหลาย ขาดก็แต่ ‘รูปธรรม’

ขณะที่เรื่องปากท้องของประชาชนกำลังงวดเข้ามาทุกวัน คสช. ยังไม่มีทีท่ายี่หระ เอาแต่พร่ำสำนวน วาทกรรม ดังที่พล.ต.คงชีพ ตันตระวานิชย์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง แถลงวันนี้ (๑๖ ก.ค.)

ร่างสัญญาประชาคมแม้ว่าจะไม่ได้บัคับใช้เป็นกฎหมายก็ตาม แต่เป็นสิ่งที่ควรพึงยึดถือและควรปฏิบัติ

นอกจากสาธยายสรรพคุณของคำสั่งบังคับที่ตั้งชื่อให้ดูหรูว่า สัญญาประชาคมว่าเต็มไปด้วย ธรรม ทั้งหลาย คุณ-จริย-ศีล ขาดก็แต่ รูปธรรม

แล้วยังย้ำว่า “ที่สำคัญห้ามสร้างเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความแตกแยก และความเกลียดชังในสังคม โดยต้องน้อมนำเอาศาสตร์ของพระราชามาเป็นภูมิคุ้มกัน


ไม่แน่ใจว่าถ้อยสลวยเหล่านั้น แม้ พล.ต.คงชีพ หรือใครต่อใครใน ปยป. (บอร์ดชั้นวิเศษที่ คสช. ตั้งขึ้นมากำกับการปฏิรูป) จะสามารถแปลไทยเป็นไทยให้เข้าใจในระดับชาวบ้านพื้นๆ ได้ว่าหมายถึงอะไร ทำอย่างไร และจริงๆ แล้วหน้าตาเป็นอย่างไร

ถ้าจะยกตัวอย่างรูปธรรมที่ถามหา ก็ได้จากกิจกรรมในวันเดียวกัน ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ทีมนักการเมืองของพรรคเพื่อไทยไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาล คสช. ตรวจสอบวิธีการระบายข้าวในสต็อกซึ่งตกค้างมาจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

เนื่องจากตลอดสามปีที่ผ่านมา คสช. ทำการระบายขายข้าวออกไปเกือบหมด กลายเป็นราคาคุยเมื่อเร็วๆ นี้ว่าฝีมือ คสช. ยอดเยี่ยม ถ้าไม่ได้ฝ่ายตรงข้ามจับผิด ประชาชนก็คงไม่ได้รับรู้ ว่าข้าวส่วนที่เหลือรอการจำหน่ายอีกเกือบ ๓ ล้านตันนั้นมีกลิ่นตุๆ

กลิ่นตุๆ ดังกล่าวไม่ใช่กลิ่นข้าวเสียนะ แต่ว่ามันเป็นกลิ่นเหม็นของการระบายข้าวดี เมื่อทีมเพื่อไทย “พบสิ่งผิดปกติ ในการนำข้าวคุณภาพดีไปขายเป็นอาหารสัตว์” จำนวนถึง ๒.๑๔ ล้านตัน
นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร นำทีมพรรคเพื่อไทยยื่น สตง.ตรวจสอบการระบายข้าว
หลังจากยึดอำนาจมีนายทหารเข้าไปตรวจสอบคุณภาพข้าว โดยใช้หลักเกณฑ์ใหม่ และผลออกว่าข้าวในโกดังอยู่ในเกรดซี ต้องนำไปทำอาหารสัตว์ และประมูลขายกิโลกรัมละ .๑๐ บาท” ต่ำกว่าราคาปกติของข้าวดี ๑๐ เท่า

เกิดกรณีเช่นนี้รวม ๑๘ โกดัง ขายข้าวไป ๒๐๐,๐๐๐ ตัน รัฐบาลขาดทุนไป ,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งหากขายข้าวครบทั้ง .๑๔ ล้านตัน คาดว่ารัฐบาลจะต้องขาดทุนประมาณ ๑๐,๗๐๐ ล้านบาท


นี่ไง ความประพฤติของ คสช. อย่างนี้มีคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม แค่ไหน และน้อมนำเอาศาสตร์พระราชามาใช้ได้เพียงใด

ไฉนบรรดาทหารนักปฏิรูปพลเรือนทั้งหลายไม่หันไปใส่ใจเรื่องที่เพิ่งจะโฉ่ออกมาอีกอย่าง “นายกสมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหาร เปิดเผยว่าในปี ๒๕๖๐ คาดว่าผู้ประกอบการร้านอาหารของคนไทยที่ต้องปิดกิจการลงทั่วประเทศไม่น้อยกว่า ๒ พันร้านค้า จากครึ่งปีแรกที่ปิดตัวไปแล้วมากกว่า ๑. พันร้านค้า”
 
นางลัดดา สำเภาทอง ชี้แจงว่าสาเหตุมาจาก “ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี กำลังซื้อลดลง คนรับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง ส่งผลกระทบร้านอาหารมีรายได้ลดลง แต่ต้นทุนสูงขึ้น” เป็นประการแรก

นอกนั้นก็มีเรื่อง ต้นทุนประกอบการสูงขึ้น มาตรการเข้มงวดของรัฐ และการออกกฎเข้มงวดเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวที่ส่งผลให้แรงงานไหลกลับออกนอกประเทศ เป็นปัญหาแก่อุตสาหกรรมต่างๆ เกี่ยวเนื่องเป็นลูกโซ่


ความเสียหายเหล่านั้นเกิดด้วยน้ำมือของ คสช. เกือบทั้งนั้น ล่าสุดมีรายงานอีกว่า “ค้าชายแดนระนอง เดือนแรกวูบ พันล้าน

คงทราบกันบ้างว่าการค้าชายแดนติดต่อพม่า เขมร และลาว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคจากฝั่งไทยใส่รถบรรทุกข้ามแดนไปให้ประชากรเพื่อนบ้านจับจ่ายใช้สอยกัน

สำหรับประเภทสินค้าที่มีการส่งออก ๑๐ อันดับแรก ได้แก่ นํ้ามันเชื้อเพลิง/หล่อลื่น, ปูนซีเมนต์, เครื่องดื่มให้พลังงาน, ของทำด้วยเหล็ก, วาล์วปิด-เปิดพร้อมอุปกรณ์, บรั่นดี/สุรา, ท่อผนังชนิดไร้ตะเข็บใช้ในการขุดเจาะฯ, เครื่องดื่มต่างๆ, กาแฟสำเร็จรูป, ส่วนประกอบของเครื่องจักรหนัก

ตามข่าวของ ฐานเศรษฐกิจระบุว่าเฉพาะที่ด่านระนองส่งเข้าไปพม่าที่ผ่านมาแต่ละปี มีมูลค่าราว ๑.๒ ถึง ๑.๓ หมื่นล้านบาท แต่มาปีนี้ลดไปประมาณ ๒ พันล้านบาท


อันเป็นภาพตัวเลขไม่ดีนักสำหรับสภาพเศรษฐกิจภาคอื่นๆ ของประเทศในขณะนี้ ที่แสดงถึงแนวโน้มดิ่งลงเหว เพราะผลร้ายลงไปกระทบถึงความเป้นอยู่ประจำวันของประชากรระดับฐานรากกันแล้ว

แม้นว่า ฐานเศรษฐกิจผู้เสนอรายงาน (จากคำบอกเล่าของนายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง รองประธานหอการค้าจังหวัดระนอง) จะอ้าง “การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศ” เป็นตัวการหลัก

หากแต่ว่าเศรษฐกิจโลกได้ขยับฟื้นตัวกันมา มากบ้างน้อยบ้างอย่างต่อเนื่องตลอดสามปี บางแห่งปรับตัวได้ดี เช่นสหรัฐอเมริกา บางท้องที่ยังกระเสือกกระสน เช่นยุโรปใต้และอเมริกากลาง ขณะที่รอบๆ บ้านของไทยล้วนปรับตัวกันได้ดี รวมทั้งเวียตนามและพม่า

ไม่รู้ว่าประเทศไทยของ คสช. รออะไรกัน จะต้องให้ทั้งโลกฟื้นเศรษฐกิจกันถ้วนหน้าเสียก่อนแล้วไทยค่อยปรับบ้างหรืออย่างไร