วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 18, 2560

ทำไมประชาชนจึงต่อต้าน “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” + ถ่านหินสะอาดหรือไม่!





ทำไมประชาชนจึงต่อต้าน “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” / เลิศชาย ศิริชัย


ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
17 กุมภาพันธ์ 2560
โดย...เลิศชาย ศิริชัย

หากไม่นับเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว เรื่องที่ถือว่าร้อนที่สุดในภาคใต้ คือ การผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ของ กฟผ.และรัฐบาล ซึ่งสำหรับ กฟผ.แล้วไม่เป็นที่แปลกใจ เพราะผลักดันเรื่องนี้แบบถอยไม่ได้ และไม่เลือกวิธีมานานแล้ว สำหรับข้าราชการ และรัฐมนตรีที่รับผิดชอบก็ไม่น่าแปลกใจที่จะดาหน้ากันสนับสนุนด้วยเหตุผลที่ไม่ผิดเพี้ยนกับ กฟผ.

แต่ที่น่าแปลกใจคือ นายกรัฐมนตรี ที่แสดงท่าที่อ้ำๆ อึ้งๆ มาตลอด แต่วันนี้นายกฯ เหมือนแสดงอย่างชัดเจนว่าต้องเดินหน้า และเหตุผลที่นำมาใช้ประกอบอำนาจก็เป็นเหตุผลเช่นเดียวกับที่ กฟผ.และผู้สนับสนุนพูดฝ่ายเดียวมาตลอด คือ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีทันสมัยที่สามารถแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดจากถ่านหินได้หมดสิ้นแล้ว

การที่นายกฯ ใช้เหตุผลนี้อย่างมั่นใจ แสดงให้เห็นว่า ในที่สุดแล้วท่านก็ฟังความข้างเดียว เพราะในความเป็นจริงมีงานวิจัยมากมายที่แสดงถึงผลกระทบของโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศต่างๆ และมีนักวิชาการไทยหลายท่านที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างชัดเจน รวมทั้งทำวิจัยในกรณีของประเทศไทยด้วย และมีรูปธรรมยืนยันที่ชัดเจนว่า หลายประเทศกำลังทยอยเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ กฟผ.และผู้สนับสนุนกลับไม่พูดถึงเรื่องนี้ และนำเสนอข้อมูลแบบด้านเดียวมาตลอด

ที่จริงรัฐบาลไม่ได้กล่าวถึงที่มาที่ไปของโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบตรงไปตรงมา แต่พูดให้ดูเหมือนว่าสร้างเพื่อชาวภาคใต้โดยตรง เราจึงได้ยินฟากของรัฐบาล รวมทั้งนายกรัฐมนตรี พยายามย้ำว่า หากไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต่อไปที่ภาคใต้ไฟจะดับ หรือไม่มีไฟฟ้าใช้ แม้แต่เมื่อพรรคการเมืองที่ครองเสียงภาคใต้มาโดยตลอด ก็ไม่เห็นด้วยต่อการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเสนอให้สร้างโรงไฟฟ้าแบบใช้น้ำมันปาล์มแทน รัฐบาลก็ยังไม่ฟัง และยืนยันจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ได้

ทั้งนี้ ก็เพราะการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ใช่เกิดขึ้นลอยๆ หรือเพราะเป็นห่วงคนภาคใต้ แต่เป็นแผนงานหนึ่งที่อยู่ในแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard) ทั้งนี้ เนื่องจากระบบทุนนิยมโลกในปัจจุบันได้วางตำแหน่งแห่งที่ภาคใต้ของไทยให้เป็นศูนย์กลางการคมนามคม เครือข่ายพลังงาน และประตูเชื่อมต่อทางอุตสาหกรรมของภูมิภาค เนื่องจากภาคใต้อยู่ในทำเลที่เหมาะสม คือ เป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนตอนบน รวมถึงประทศจีนด้วย กับกลุ่มประเทศอาเซียนตอนล่าง

นอกจากนี้ จะเห็นว่าประเทศไทยนั้นขวางทางเดินเรือ และเส้นทางขนส่งจากฝั่งตะวันออกมายังฝั่งตะวันตก การเดินเรือ และการขนส่งจึงต้องไปอ้อมแหลมมลายู หากสามารถใช้เส้นทางผ่านประเทศไทยได้จะเป็นโอกาสในการแสวงหาผลประโยชน์ของกลุ่มทุนอย่างมาก

อีกทั้งอ่าวไทยเป็นแหล่งสำคัญของน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติด้วย ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าประเทศไทยเป็นแหลงน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ค่อยเปิดเผยเรื่องนี้สู่สาธารณะ

ผลที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และจะทยอยเกิดมากขึ้นก็คือ โครงการขนาดใหญ่ เท่าที่มีผู้พยายามค้นหาโครงการเหล่านี้ ซึ่งถูกซุกซ่อนไว้ตามแผนงานของฝ่ายต่างๆ พบว่า มีแผนและ/หรือมีการการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการมากมาย ที่สำคัญ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน 9 แห่ง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 แห่ง ท่าเรือน้ำลึกจำนวนมาก แลนด์บริดจ์หลายสาย นิคมอุสาหกรรมปิโตรเคมี 4 แห่ง นิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ 4 แห่ง เขื่อนกักเก็บน้ำจืดมากกว่า 10 แห่ง เป็นต้น

การเกิดแผนงานและโครงการมากมายจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทุกด้านในภาคใต้อย่างมากและรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริงว่า กลุ่มทุนขนาดใหญ่ทั้งจากต่างประเทศ และในประเทศ ร่วมกับเทคโนแครทกำลังจะเปลี่ยนแปลงทรัพยากรในภาคใต้ให้มีความหมายใหม่ ว่า เป็นทรัพยากรของโลก และกลุ่มทุนระดับต่างๆ ในโลกคือผู้วางแผนใช้ประโยชน์ในรูปแบบใหม่ๆ โดยไม่ได้ใส่ใจคนในท้องถิ่น เพราะเห็นว่าเป็นโลกของคนล้าหลัง และเป็นส่วนที่จะต้องปรับตัวให้อยู่รอดจากการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น แม้กระทั่งจะกลายเป็นส่วนของผู้แบกรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ในทางที่ควร โครงการเหล่านี้ต้องร่วมกับประชาชนในท้องถิ่น ร่วมกับภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ทำความเข้าใจโครงการ ศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจริงๆ และร่วมกันประเมินว่าในที่สุดแล้ว ควรจะสร้างโครงการหรือไม่ อย่างไร การจะตกลงว่าสร้างได้จะต้องเป็นข้อตกลงของทุกฝ่ายที่ตรงกัน โดยเฉพาะจากคนในท้องถิ่นที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง

ที่หลักการข้างต้นนี้สำคัญก็เพราะว่า โครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นล้วนเข้าไปแย่งชิงทรัพยากรที่มีคนในท้องถิ่นใช้ประโยชน์อยู่ และเป็นการนำพิษภัยไปให้เขาพร้อมกันด้วย ดังนั้นต้องเคารพคนในท้องถิ่นให้มากที่สุด สื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมามากที่สุด และให้ประชาชนได้ตัดสินด้วยความรู้ความเข้าใจมากที่สุด

แต่การกลับมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะผู้รับผิดชอบโครงการจะเตรียมวางแผนดำเนินโครงการไว้เรียบร้อยแล้ว การเข้ามาดำเนินการในพื้นที่เป็นเพียงการใช้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อให้โครงการผ่านขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ซึ่งพอจะสรุปวิธีดำเนินการของโครงการต่างๆ ได้ดังนี้

1.วางแผนในการสร้างและดำเนินโครงการไว้เรียบร้อยแล้ว โดยไม่ได้สนใจการมีอยู่ของคนในท้องถิ่นที่จะได้รับผลกระทบ

2.รู้ดีว่าโครงการมีผลกระทบจึงพยายามไม่ให้ใครรู้

2.1 ไม่เปิดเผยโครงการต่อสาธารณะ แม้ลงมือดำเนินการแล้วก็ไม่บอกอะไรแก่คนในพื้นที่ หรือบอกไม่หมด หรือบอกแบบบิดเบือน

2.2 ดำเนินโครงการแบบแยกส่วนตัดตอน คือ ให้แต่ละหน่วยทำโครงการแยกกัน และแต่ละหน่วยจะรู้น้อยว่า งานของตนเกี่ยวข้องต่อโครงการอื่นๆ อย่างไร ทั้งที่โครงการย่อยต่างๆ เชื่อมโยงเข้าด้วยกันทั้งหมด

3.เสนอข้อมูลด้านเดียว แต่ไม่บอกถึงผลกระทบ และไม่บอกว่าหากไม่ดำเนินโครงการจะเกิดผลดีอะไร โดยเฉพาะผลดีต่อคนเล็กคนน้อย และความยั่งยืนของระบบนิเวศ

4.ใช้ความรู้แบบไม่ตรงไปตรงมา แต่จงใจสร้างความรู้ในลักษณะที่เป็นวาทกรรม และมายาคติ

ในการสร้างวาทกรรมนั้น ทางโครงการพยายามที่จะสร้างความรู้จากมุมของทางโครงการให้เป็นความจริงของสังคมในหลายเรื่อง เช่น

(1) เสนอถึงผลร้ายที่ประชาชนจะได้รับ หากไม่ดำเนินโครงการ เช่น จะไม่มีไฟฟ้าใช้ ภาคใต้ไฟจะดับ

(2) พยายามบอกว่าโครงการไม่มีอันตรายใดๆ โดยการสร้างภาพลักษณ์ของสิ่งที่ประชาชนกลัว ให้กลายเป็นสิ่งที่ภาพลักษณ์ตรงกันข้าม เช่น พยายามสร้างเรื่องถ่านหินสะอาด การมีเทคโนโลยีทันสมัยที่ควบคุมผลกระทบของถ่านหินได้หมดแล้ว

(3) สร้างภาพประโยชน์มากมายที่ประชาชนในพื้นที่จะได้รับ เช่น การมีงานทำ ลูกหลานจะได้ทำงานใกล้บ้าน พื้นที่จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว

 (4) ปัจจุบันวาทกรรมที่ถูกนำเสนอบ่อยขึ้นก็คือ ประเทศไทยตามหลังประเทศอื่นมากแล้ว จากการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ชาวบ้านควรจะมองหน่วยที่ใหญ่กว่าชุมชน คือ ต้องมองที่หน่วยของประเทศ จึงจะเห็นว่าโครงการต่างๆ มีประโยชน์ และหากชาวบ้านยังคัดค้านอยู่ก็จะกลายเป็นผู้ผิด

(5) กฟผ.นำนักวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัยไปดูโรงไฟฟ้าถ่านหินในบางประเทศ แต่ให้ดูเฉพาะแง่มุมที่เตรียมไว้ให้ดู และไม่พาไปดูกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกับพาชาวบ้านบางกลุ่มในพื้นที่ไปดูโรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม่เมาะ แต่ก็พาเข้าห้องปะชุมที่จัดเตรียมไว้ แล้วฉายภาพยนตร์ และเสนอข้อมูลแต่แง่ดีๆ ให้รับรู้เท่านั้น แต่ไม่พาไปดูชุมชนที่ชาวบ้านจำนวนมากต้องเจ็บป่วย และล้มตายด้วยพิษจากถ่านหิน ทั้งนักวิชาการ และชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวได้กลายเป็นกลุ่มผลิตซ้ำวาทกรรมของ กฟผ.อย่างเข้มแข็ง ดังจะเห็นได้จากการเคลื่อนไหวสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ในปัจจุบัน

ในการสร้างความรู้ของตนให้เป็นความรู้ของสังคม หรือที่เรียกว่าวาทกรรมนี้ ผู้ดำเนินโครงการหรือผู้ผลักดันโครงการต่างๆ จะไม่สนใจเลยว่าความรู้ที่ตนผลิตสร้างขึ้นนั้น จะมีความจริงรองรับอยู่หรือไม่ หรือใครจะได้รับผลกระทบจากความรู้นี้ แต่จะให้ความสำคัญว่าจะทำอย่างไรให้ความรู้นี้เป็นความรู้ของสังคม เพื่อไม่ให้มีผู้คัดค้านโครงการ หรือมีผู้คัดค้านบ้างก็จะถูกเสียงของสาธารณะ ซึ่งเชื่อในความรู้ที่ทางโครงการผลิตสร้างเป็นผู้ออกมากดดันกลุ่มผู้คัดค้านเอง เช่น กรณี “ถ่านหินสะอาด” แม้จะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า ไม่มีถ่านหินชนิดใดสะอาด จะมีแต่ว่าแต่ละชนิดจะมีสารพิษอะไรมากกว่ากัน แต่ กฟผ.และผู้บริหารกระทรวงพลังงานจะไม่สนใจ หรือโต้แย้งข้อเท็จจริงนี้ แต่จะมุ่งใช้พื้นที่สื่อสารที่ตนเองได้เปรียบมากกว่าเสนอแต่เรื่องถ่านหินสะอาด

สำหรับการสร้างมายาคติก็คือ การสร้างความรู้/ความจริงที่ไม่จริงขึ้นมา โดยใช้สัญญะต่างๆ อย่างซับซ้อน ทางโครงการจะนำสิ่งที่สังคมให้คุณค่า เช่น ความไร้เดียงสาของเด็ก วัฒนธรรมท้องถิ่น การศึกษาของเยาวชน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มาเชื่อมโยงให้เป็นคุณค่าของโครงการ

วิธีการแรกที่ทางโครงการใช้คือ การสร้างข้อความ และภาพให้มีความหมายดังกล่าว ดังจะเห็นจากการเสนอภาพผ่านสื่อโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง โดยเสนอให้เห็นความหมายในลักษณะที่ กฟผ.คือผู้ที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สร้างความดีงามให้แก่วัฒนธรรมท้องถิ่น สนับสนุนการศึกษาของเด็กๆ เป็นต้น

ในพื้นที่ดำเนินโครงการก็สร้างสื่อที่แสดงความหมายลักษณะนี้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน เช่น การแจกเสื้อยืดให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยที่เสื้อดังกล่าวเขียนข้อความว่า “ลูกหลานอ่านหนังสือ ที่พึ่งคือแสงสว่าง เราต้องการโรงไฟฟ้า”

วิธีการที่สอง คือ การให้เงินสนับสนุนกิจกรรมที่สามารถสร้างคุณค่าให้แก่โครงการได้ เช่น ให้งบประมาณสนับสนุนกิจกรรมของวัด มัสยิด โรงเรียน มหาวิทยาลัย องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนกิจกรรมทางวัฒนธรรมของชาวบ้าน เป็นต้น

ในการสร้างวาทกรรม และมายาคตินั้น ทางโครงการไม่เพียงดึงชาวบ้านส่วนหนึ่งให้เข้ามาสนับสนุนโครงการได้เท่านั้น แต่ยังสามารถดึงคนชั้นกลางในเมือง นักธุรกิจ นักวิชาการบางส่วนให้เข้ามาสนับสนุนโครงการด้วย และใช้เป็นพลังสำคัญในการกดดันชาวบ้านที่คัดค้านโครงการ

ในสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้สังคมเพิกเฉยที่จะถกเถียงเรื่องสำคัญๆ ไปหลายเรื่อง

เรื่องที่ 1 การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีแต่ผลดีที่ทุกฝ่ายจะได้รับ หรือว่ามีผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างมากมายด้วย ถ้าเช่นนั้นใครจะเป็นผู้แบกรับผลกระทบ และผลประโยชน์ที่ได้นั้นใครควรจะเป็นผู้ได้บ้าง

เรื่องที่ 2 ประชาชนคนเล็กคนน้อยที่ถูกแย่งชิงทรัพยากร และไม่มีทางเลือกเส้นทางชีวิตของตนเป็นอย่างอื่นนั้นจะได้รับการดูแลอย่างไร หรือเป็นเพียงผู้อ่อนแอที่จะต้องสูญหายไปในกระแสของการเปลี่ยนแปลง

เรื่องที่ 3 ทิศทางการพัฒนามีเพียงทิศทางเดียวดังที่นำเสนอใช่หรือไม่ หรือว่ามีแนวทางอื่นอีก เช่น ทรัพยากรธรรมชาติที่จะสูญเสียไปจากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ กับการรักษาทรัพยากรดังกล่าวไว้เป็นฐานการทำการเกษตรแบบยั่งยืน เป็นความมั่นคงด้านอาหาร และเป็นฐานการท่องเที่ยว อะไรจะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่ากัน

ดังนั้น ในสถานการณ์เช่นนี้จะให้ประชาชนในพื้นที่ที่จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทำอย่างไร จะให้พวกเขางอมืองอเท้าเพื่อรอรับชะตากรรมที่ตัวเอง ซึ่งก็รู้ถึงผลแน่ชัดอย่างนั้นหรือ หรือให้รอรับความเมตตาจากผู้กระเหี้ยนกระหือรือให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งที่ตนเป็นคนที่อื่นและจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าดังกล่าว

พอดีกับว่ายุคนี้เป็นยุคโลกาภิวัตน์ ลักษณะสำคัญของยุคก็คือ เกิดพลังครอบงำทางวัฒนธรรม ทำให้คนยึดติดอยู่กับการบริโภคความหมาย จนไม่เห็นความสำคัญของคน ดังจะเห็นว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกมุมโลกที่ผู้คนนับหมื่นนับแสนถูกเข่นฆ่าอย่างโหดร้าย ทั้งที่พวกเขาไม่รู้หรือไม่ได้ยุ่งเกี่ยวอะไรด้วยเลย โดยผู้เข่นฆ่าอ้างเพียงความหมายประชาธิปไตยบ้าง สิทธิมนุษยชนบ้าง หรือพระบัญชาอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าบ้าง

ซึ่งการผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ไม่ต่างอะไรจากนี้ เพียงความหมายที่ว่าจะไม่มีไฟฟ้าใช้ ชีวิตจะขาดความสะดวกสบาย เราก็พร้อมจะสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยมองไม่เห็นผู้คนจำนวนมากที่จะได้รับอันตรายอย่างร้ายแรง หรือนี่คือวิธีการปฏิรูปประเทศของรัฐบาลทหารด้วย

ooo

ถ่านหินสะอาดหรือไม่! ไม่ใช่มาจากการท่องคาถา แต่พิสูจน์ได้จากหลักฐานเชิงประจักษ์ (ตอนที่ 1) / ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ






ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
13 กุมภาพันธ์ 2560
โดย ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ภาพใบยางพาราร่วงผิดธรรมชาติในพื้นที่ทุ่งสาคร ต.ปกาสัย อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ถ่ายเมื่อวันที่ 12 เดือนกรกฎาคม 2559

หลายคนคงไม่รู้ว่า จ.กระบี่ เคยมีโรงไฟฟ้าถ่านหินมาก่อน และประสบการณ์ที่เจ็บปวดทำให้ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน

โรงไฟฟ้าถ่านหินที่นี่เริ่มเดินเครื่องเมื่อ พ.ศ.2507 มีกำลังการผลิตติดตั้ง 20 เมกะวัตต์ ก่อนเพิ่มเป็น 60 เมกะวัตต์ และเดินเครื่องจนกระทั่งถึง พ.ศ.2538 จึงยกเลิกการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง และหันมาใช้น้ำมันเตาแทน

ในช่วงที่ผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินได้ทำให้ใบยางพาราที่ร่วงเหมือนผลัดใบ ผิดปกติถึง 2 ครั้งต่อปี!!





นอกเหนือจากผลัดใบตามธรรมชาติในช่วงหน้าแล้ง ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถกรีดยางได้ ยางพาราบางต้นยืนต้นตาย และไม่สามารถเพาะกล้ายางได้ เพราะมีขี้เถ้าถ่านหินมาเกาะใบตอนกลางคืน และหากฝนตกจะทำให้ใบกล้ายางไหม้ และร่วงหล่น บางต้นแห้งตาย


หลังจากเลิกใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ผ่านไป 21 ปี แต่ใบยางพารายังร่วงผิดธรรมชาติ 1 ครั้งต่อปี!!

นอกเหนือจากร่วงตามธรรมชาติในฤดูแล้ง สังเกตในภาพครับ ใบยางสีเขียวปลิดขั้วร่วงลงมา ไม่ใช่ร่วงตามธรรมชาติ

ในรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ก็ได้ระบุถึงประสบการณ์ที่เลวร้ายนี้ของชาวบ้าน แต่ทำไมคนอยากได้โรงไฟฟ้าถ่านหินยังท่องคาถาว่า...

“ถ่านหินสะอาด”?!

ขอให้ลองคิดครับ นี่ขนาดโรงไฟฟ้าถ่านหินแค่กำลังผลิต 36 เมกะวัตต์เอง ผลกระทบยังขนาดนี้ หากจะสร้างขนาดใหม่ขนาด 800 เมกะวัตต์ ผลกระทบจะขนาดไหน?!?!





หมายเหตุ : ข้อมูลและภาพจากงานวิจัย อันดามัน : ความรู้ท้องถิ่นด้านสิ่งแวดล้อมเชิงวัฒนธรรม การเมืองเรื่องความรู้ และความเป็นธรรมทางสังคมด้านสุขภาวะ (2559)

ooo


ถ่านหินสะอาดหรือไม่! ไม่ใช่มาจากการท่องคาถา แต่พิสูจน์ได้จากหลักฐานเชิงประจักษ์ (ตอนที่ 2) / ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ





ภาพที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่โรงเก่า ขนาด 60 เมกกะวัตต์ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นน้ำมันเตา และจะเปลี่ยนเป็นถ่านหินขนาด 800 เมกกะวัตต์ ที่ชาวกระบี่กำลังคัดค้านอยู่ในขณะนี้


ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
14 กุมภาพันธ์ 2560 

โดย ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
------------------------------------------------------------------------------------------------

ขณะที่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐท่องคาถา “ถ่านหินสะอาด” อย่างไม่ลืมหูลืมตา ลองมาดูรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของ (EHIA) ของโรงไฟฟ้าถ่านหิน รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ท่าเทียบเรือคลองรั้ว ที่จ้างโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เอง และงานวิจัยที่ผมลงไปทำกับชาวบ้านในพื้นที่กันครับว่า ถ่านหินสะอาดจริงหรือไม่

ก่อนอื่นขอให้ข้อมูลพื้นฐานก่อนว่า สถานที่ที่รัฐบาลจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกกะวัตต์ที่ อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ เคยมีโรงไฟฟ้าถ่านหินมาก่อน โรงไฟฟ้าถ่านหินที่นี่เริ่มเดินเครื่องเมื่อ พ.ศ.2507 มีกำลังการผลิตติดตั้ง 20 เมกกะวัตต์ ก่อนเพิ่มเป็น 60 เมกกะวัตต์ และเดินเครื่องจนกระทั่งถึง พ.ศ.2538 จึงยกเลิกการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง และหันมาใช้น้ำมันเตาแทน

1) ประสบการณ์ด้านสุขภาวะของชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

จากข้อมูลภาคสนามพบว่า ประสบการณ์ของชาวบ้านทุ่งสาคร ก็คือ ช่วงที่มีการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยถ่านหิน ได้เกิดขี้เถ้าถ่านหินจากการเผาไหม้ฟุ้งกระจาย ทำให้ชาวบ้านหมู่ 1 หมู่ 2 หมู่ 3 และหมู่ 4 ตำบลปกาสัย ได้รับผลกระทบ โดยที่หมู่ 4 หรือบ้านทุ่งสาครได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากอยู่ใต้ลมของโรงไฟฟ้าเป็นเวลา 7-8 เดือนต่อปี (เดือน 6-เดือน 12 หรือเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน) และขี้เถ้าถ่านหินยังทำให้ชาวบ้านจำนวนมากป่วย ส่วนใหญ่เป็นโรคทางเดินหายใจ โดยเฉพาะเด็กๆ ป่วยเป็นโรคหอบหืด

ชาวบ้านระบุว่า ในช่วง พ.ศ.2520-2530 เป็นช่วงที่ขี้เถ้าถ่านหินฟุ้งกระจายมากที่สุด ชาวบ้านที่ปลูกผักกาด ตอนเช้าจะพบขี้เถ้าถ่านหินละเอียดผสมกับน้ำค้างเกาะตามผิวใบ หากจะนำไปดอง ต้องล้างออกก่อนถอน ถึงจะนำไปดองได้ หากไม่ล้างก่อนถอน จะล้างขี้เถ้าถ่านหินไม่ออก และเมื่อนำไปดองน้ำจะมีสีดำ แม้แต่บ่อกุ้ง บางครั้งขี้เถ้าถ่านหินฟุ้งกระจายและตกลงไปทำให้กุ้งตายทั้งบ่อ

ชาวบ้านระบุว่า กฟผ.ไม่เคยบอกกับชาวบ้านว่า ขี้เถ้าถ่านหินอันตราย ชาวบ้านบางคนยังคิดว่าขี้เถ้าถ่านหินเป็นปุ๋ยอย่างดี จึงนำเอาขี้เถ้าถ่านหินที่พัดพามากับลมและฝนและสะสมอยู่ในโอ่งน้ำฝน นำไปใส่ปุ๋ยให้กับผัก ชาวบ้านมารู้ทีหลังว่า ขี้เถ้าถ่านหินมีสารโลหะหนักและสารพิษ หลังจากสมาชิกในครอบครัวเจ็บป่วย โดยเฉพาะเด็ก จึงต้องค้นหาข้อมูลด้วยตนเอง

ในช่วงดังกล่าว การตระหนักถึงผลกระทบจากถ่านหินยังมีน้อยมาก บางคนเมื่อเจ็บป่วยจากการแพ้น้ำที่ปนเปื้อนขี้เถ้า แม้แต่แพทย์เองที่ทำการรักษาก็ไม่ทราบว่าอาการเจ็บป่วยของชาวบ้านเกิดจากอะไร จนชาวบ้านต้องบอกแพทย์ว่า แพ้น้ำที่ปนเปื้อนขี้เถ้าถ่านหิน

แม้ว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะเลิกใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิต และหันมาใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงแทน แต่ผลกระทบดังที่กล่าวมาข้างต้นก็ยังเกิดต่อเนื่องมานานถึง 10 ปี และต่อเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบันชาวบ้านก็ยังไม่ไว้ใจที่จะใช้น้ำฝน

ชาวบ้านทุ่งสาครระบุว่า เด็กบางคนที่เคยแพ้น้ำฝน ทุกวันนี้เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็ยังกลัวฝน เนื่องจากประสบการณ์ที่เลวร้ายเมื่อตอนยังเป็นเด็ก

2) ข้อมูลของสถานบริการสาธารณสุขชี้ชัด คนรอบโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่โรงเก่า ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจมากที่สุด

ขณะที่ผมไม่เชื่อว่าหน่วยงานภาครัฐจะไม่ทราบถึงปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจของพี่น้องรอบโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงเก่า เพราะทั้งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กำลังจะสร้าง และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของท่าเทียบเรือ ก็ยังมีการระบุข้อมูลปัญหาด้านสุขภาพของภาครัฐเอง โดยชี้ให้เห็นว่า สุขภาพของชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงเก่า โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ

ในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ รายงาน EHIA ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ หน้า 3-223 ถึง 3-249 ได้อ้างอิงข้อมูลจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั้ง 4 แห่งในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ระบุว่า โรคระบบหายใจเป็นโรคที่ชาวบ้านเจ็บป่วยเป็นอันดับหนึ่งของทุก รพ.สต.

ข้อมูลในรายงาน EHIA ที่พบกลุ่มโรคที่เป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยมากที่สุด ทั้งใน อ.เหนือคลอง และ รพ.สต.ในพื้นที่คือ กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เป็นประเด็นที่มีความสำคัญยิ่ง แต่การศึกษานี้ก็ไม่ได้ชี้ให้เห็นสาเหตุของการเกิดโรคทางเดินหายใจ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความรู้ทางระบาดวิทยา เพื่อหาสาเหตุหรือแหล่งที่ทำให้เกิดการโรคทางเดินหายใจเป็นอันดับหนึ่งของทุกโรงพยาบาลและมีแนวโน้มลดลง

ขณะที่รายงาน EIA ท่าเทียบเรือคลองรั่ว ในหัวข้อการสาธารณสุขและสุขภาพ (หน้า 3-378 ถึง 3-390) ระบุว่า ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มโรคที่เป็นสาเหตุความเจ็บป่วยพบว่า ข้อมูลจากสาธารณสุข อ.เหนือคลอง ใน พ.ศ.2552-2555 โรคที่มีผู้ป่วยมากเป็นอันดับ 1 คือ โรคทางเดินหายใจ และมีแนวโน้มลดลง

ส่วนข้อมูลจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ได้ระบุดังนี้ ข้อมูลจาก รพ.สต.บ้านแหลมกรวด (ต.คลองขนาน) รพ.สต.ตลิ่งชัน (ต.ตลิ่งชัน) ระหว่าง พ.ศ.2552-2555 พบว่า กลุ่มโรคที่เป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยมากที่สุดคือ กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ

ขณะที่ รพ.สต.บ้านคลองยวน (ต.ตลิ่งชัน) รพ.สต.คลองขนาน และ รพ.สต.บ้านเกาะศรีบอยา (ต.ศรีบอยา) ระหว่าง พ.ศ.2552-2556 พบว่า กลุ่มโรคที่เป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยมากที่สุด คือ กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ

หากพิจารณาสภาพแวดล้อมก็จะเห็นได้ว่า บริเวณนี้คือชายฝั่งทะเลที่ควรจะมีอากาศดี แต่ทำไมชาวบ้านจึงเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจอันดับต้นๆ ซึ่งหากพิจารณากิจกรรมที่มนุษย์ทำในบริเวณนี้ที่เป็นไปได้ว่า มีโอกาสทำให้พี่น้องเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจระนาว ก็มีแต่โรงไฟฟ้าถ่านหินเท่านั้น

------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ : ข้อมูลและภาพจากงานวิจัย อันดามัน : ความรู้ท้องถิ่นด้านสิ่งแวดล้อมเชิงวัฒนธรรม การเมืองเรื่องความรู้ และความเป็นธรรมทางสังคมด้านสุขภาวะ (2559)